วันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

บทความที่ลงหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ถ้าโลกนี้ไม่มี..Harry Potter
ก็คงจะไม่มี..Similan Krapu-nga
โดย สุเนตร

จะว่าไปแล้ว ก็คงไม่มีใครเชื่อ และคงจะว่า “พูดเป็นเล่นไป!” มันจะมาเกี่ยวกันได้ยังไง “แฮร์รี่ พอตเตอร์”วรรณกรรมเยาวชนจากอังกฤษผลงานของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ที่ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก กับ “สิมิลัน กราภูงา” วรรณกรรมเยาวชนไทยในแนวเดียวกัน..

แต่ถ้าท่านรู้ประวัติที่มาที่เป็นเบื้องหลังเบื้องลึกที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนของเรื่อง “สิมิลัน กราภูงา” ซึ่งมีเรื่องราวดุจดังนิยายอีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน ก็คงต้องทึ่ง!

ย้อนหลังกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2543 หนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่ม 1 ตอน ศิลาอาถรรพ์ ถูกแปล และตีพิมพ์เป็นภาษาไทย เดือนกันยายน ก็พิมพ์เล่ม 2 ตอน ห้องแห่งความลับ และเดือนพฤศจิกายน พิมพ์เล่ม 3 ตอนนักโทษแห่งอัซคาบัน โดย นานมีบุ๊คส์ เป็นผู้จัดพิมพ์ เป็นที่แน่นอนว่านักอ่านหลายรุ่นของบ้านเราให้การต้อนรับเป็นอย่างดีกับวรรณกรรมชุดนี้

จากความโด่งดังของแฮร์รี่ จนทำให้ในเดือนธันวาคม ปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีหนังสือที่ชื่อว่า “รวมเว็บไซต์และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ Harry Potter” เกิดขึ้นมาโดย A.J. Printson และติดตามด้วยเล่ม 2 และ 3 ในปีถัดมา
เนื้อหาภายในหนังสือจะมีข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแฮร์รี่ ทั้งไทยและเทศ รวมถึงประวัติข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเวทมนตร์ด้วย

จนถึงที่สุดเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2544 ทาง e.magic club ผู้จัดพิมพ์หนังสือดังกล่าว ถูกสั่งห้ามจัดพิมพ์และจัดจำหน่ายจากตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะสิ่งที่กระทำไปนั้นถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์มากกว่าเป็นหนังสือที่ชื่นชมแฮร์รี่ธรรมดาๆ เล่มหนึ่ง

จากพันธมิตรที่เคยชื่นชม แต่กลับถูกห้าม จึงเป็นผลให้กลายเป็นสิ่งตรงข้าม..

ด้วยความเสียดายข้อมูลที่มีอีกมากเกี่ยวกับตำนานต่างๆ อีกทั้งเสียใจที่ไม่ได้ทำหนังสือที่ตนเองชื่นชอบ จึงทำให้ A.J. Printson (ซึ่งไม่เคยเขียนนิยายเรื่องใดๆ มาก่อน และหนังสือที่เขียนส่วนใหญ่เป็นคู่มือคอมพิวเตอร์ หรือสารคดี..) ได้เกิดแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าที่จะเขียนวรรณกรรมเยาวชนกับเขาบ้าง.. และแน่นอนฝ่ายร้ายต้องเป็นพวกพ่อมดแม่มด!

เรื่องจึงเริ่มต้นขึ้นจากการที่เขาไปเที่ยวที่จังหวัดกระบี่

เขาได้เห็นหน้าผาที่หาดไร่เล เห็นฝรั่งไปปีนหน้าผาเล่น และเกิดความคิดว่าน่าจะมีอะไรอยู่บนนั้น เคยมีใครขึ้นไปหรือเปล่า เห็นลิงกังที่ชายหาด

อีกทั้งยังไปที่ถ้ำผีหัวโตในจังหวัดเดียวกัน และพบหินย้อยรูปฤาษีตามที่ไกด์นำทางแนะนำ เห็นหินที่ดูเหมือนหัวกะโหลกขนาดใหญ่ เห็นหินรูปเงือก..

เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ เขาจึงลงมือที่จะผูกเรื่องที่ได้เห็น ให้กลายเป็นเรื่องราวที่ตื่นเต้นสนุกสนานตามแบบฉบับของวรรณกรรมเยาวชน ตามกระแสของโลกในขณะนั้น โลกแห่งเวทมนตร์!

“สิมิลัน กราภูงา” ลูกครึ่งไทย-อังกฤษจึงถือกำเนิดขึ้น โดยใช้เวลาแต่งเรื่องเพียง 4 สัปดาห์ และตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2545 ในชื่อตอน “เสื้อคลุมวิเศษเมอร์ลิน” เหตุที่เขาดึงเอาเรื่องของเมอร์ลินมาเป็นปมของเรื่องก็เพราะ “เมอร์ลิน” เป็นพ่อมดที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในตำนาน มีหนังสือมากกว่า 600 เล่ม ที่อ้างอิงถึง เมอร์ลิน (แม้แต่เรื่องแฮร์รี่)

ซึ่ง A.J. เองก็ไม่พลาดเช่นกันที่นำเรื่องนี้มาใช้ จึงน่าจะถือได้ว่า หนังสือชุดนี้เป็น วรรณกรรมไทยเรื่องแรก ที่นำเรื่อง เมอร์ลิน มาเป็นหนึ่งในตัวละครของเรื่อง และยังนำตัวละครอย่าง “วิเวียน” คนรักของเมอร์ลิน และ “มอร์แกน เลอ เฟย์” ลูกศิษย์ของเมอร์ลินมาด้วย

และเรื่องราวได้ต่อยอดจากตำนานเดิมที่กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เมอร์ลินโดนสาปให้ถูกกักขังอยู่ในต้นโอ๊กโดยคนรักของเขา แต่ในเรื่อง “สิมิลัน” ได้ขยายเรื่องราวในตอนนั้นต่อ จึงทำให้ทราบว่าแท้ที่จริงคนที่สาปเมอร์ลินก็คือ มอร์แกน ลูกศิษย์ของเขานั่นเอง และมีผลทำให้ของวิเศษสองสิ่งคือ เสื้อคลุม และเหรียญตรามังกรของเมอร์ลิน แยกออกจากกัน โดยมอร์แกนได้เหรียญตรามังกร วิเวียนได้เสื้อคลุม ทั้งสองต่อสู้กัน วิเวียนแพ้ แต่เธอได้รับการช่วยเหลือจากเหล่าแฟร์รี่จนรอดพ้นไปได้ มอร์แกนไม่เลิกติดตามหาเธอ ผลักดันทำให้เธอต้องหนีไปให้ไกลที่สุด..

การเดินทางข้ามกาลเวลาเป็นพันปี ทำให้เธอพลัดหลงมาถึงแดนสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยา จนในที่สุดเธอพบรักกับชายหนุ่มตามคำสาปของเมอร์ลินที่สาปผู้ที่ถือครองของวิเศษทั้งสองอย่าง เธอได้ให้กำเนิดบุตรชายนามว่า “สิมิลัน” เพราะเด็กคนนี้ถือกำเนิดที่เกาะแห่งนั้น

แต่ถึงกระนั้น มอร์แกนก็ค้นพบความเป็นอมตะ และยังใช้บรรดาลูกสมุนตามล่าหาวิเวียนและเสื้อคลุมจนมาถึงเมืองไทย จนท้ายที่สุดก็พบผู้ครอบครองเสื้อคลุมคนล่าสุด และการต่อสู้เพื่อเสื้อคลุมของเมอร์ลินได้บังเกิดขึ้น..
บรรยากาศของเรื่องส่วนใหญ่อยู่ในเมืองไทย และยังใช้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เป็นองค์ประกอบของเรื่องไม่ว่าจะเป็น
“เกาะสิมิลัน” มีถ้ำลึกลับที่เป็นที่เก็บรักษาเสื้อคลุมเอาไว้
“เกาะเสม็ด” หรือเกาะแก้วพิสดาร กลายเป็นที่ประลองเวท
“ถ้ำผีหัวโต” เป็นสถานที่ที่ผู้วิเศษโบราณถูกสาปให้กลายเป็นหินพร้อมกับพรรคพวก คือ บากูโมถ่าย อาจารย์จอมขมังเวท สมุทตรา อสูรน้อยผู้ซื่อสัตย์ และมัสยาฆาตี ราชันแห่งเงือก
“เขาตะปู เขาพิงกัน” เป็นประตูผ่านมิติ
“หน้าผาที่ไร่เล” เป็นที่ตั้งของวิหารวานร 1 ใน 12 วิหารแห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช)
ฯลฯ

เรื่องราวของสิมิลัน ไม่ได้จบลงแค่เล่ม 1 เท่านั้น ยังมีตอนต่อมาคือ ตอนปริศนาเหรียญตรามังกร และยังมีตอนต่อไปเรื่อยๆ (ขณะนี้กำลังแปลเล่ม 1 เป็นภาษาอังกฤษ)

แรงบันดาลใจของผู้แต่งเรื่องยังไม่หมดลงแค่นั้น เขาหวังว่าเรื่องสิมิลันจะได้เป็นหนังสือการ์ตูน เขาใช้เวลากว่า 1 ปีที่จะควานหาคนวาดการ์ตูนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว จนได้พบกับคุณ P.Sit และคุณ Panuwat และตีพิมพ์ส่วนแรกของเรื่องออกมา

และยังหวังต่อไปว่าเรื่องนี้จะถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งก็เคยทำเป็นหนังตัวอย่างขึ้นมาในความยาวนาทีกว่าๆ โดยเพื่อนของเขา เพื่อไปออกงานที่เมืองคานส์ ฝรั่งเศส

ความหวังในเรื่องสร้างหนังยังไม่หมด เพราะมีบริษัทสร้างหนังของไทยแห่งหนึ่งสนใจ และกำลังพิจารณาเนื้อหาของเรื่องอยู่ และยิ่งกว่านั้น ตัวอย่างหนังสือฉบับการ์ตูนได้ถูกส่งไปยังบริษัทหนังฮอลลีวู้ด ไม่แน่นะเราอาจจะได้ชมเรื่องของไทยที่กลายเป็นภาพยนตร์โดย Steven Spielberg

นี่คงเป็นเพียงเรื่องราวอีกบทหนึ่งของเบื้องหลังวรรณกรรมไทยที่น้อยคนนักจะได้รู้ถึงที่มาที่ไป และก็หวังว่าท่านผู้นิยมวรรณกรรมแนวแฟนตาซีคงร่วมเป็นกำลังใจให้กับ..

“สิมิลัน กราภูงา” ผู้หาญกล้าท้าทายอำนาจของแม่มดต่างชาติเช่นเดียวกับผู้แต่งเรื่องที่กำลังนำเรื่องนี้สู่ตลาดหนังสือโลก

และก็คงไม่แปลกที่จะกล่าวว่า

“ถ้าโลกนี้ไม่มี แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็คงจะไม่มี สิมิลัน กราภูงา!”

เน้นสถานที่ท่องเที่ยวในนิยาย "สิมิลัน กราภูงา"


ในนิยายเรื่องนี้จะเน้นสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลักบวกกับตำนานท้องถิ่นที่เล่าต่อๆ กันมา หรือสร้างตำนานใหม่คิดมาให้กลายเป็นนิทานพื้นบ้าน